Global Markets Week Ahead: จับตายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ

 | Sep 30, 2019 02:33

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ 1.50% แต่ก็ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 2.8% จาก 3.3% สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปและเอเชียที่ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว
  • ควรจับตา ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-farm Payrolls) รวมทั้งถ้อยแถลงจากบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด เพราะเงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากการจ้างงานดีกว่าคาดและเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น
  • อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะเห็นแรงขายของผู้ส่งออกที่ระดับเหนือ 30.70 บาทต่อดอลลาร์อย่างหนาแน่น ทำให้ถ้าเงินบาทยังไม่ทะลุผ่านแนวต้านนี้ ก็ไม่ง่ายที่จะเห็นเงินบาทกลับไปเป็นขาอ่อนค่า
  • กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.30-30.80 บาท/ดอลลาร์

มุมมองนโยบายการเงิน

  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในวันอังคาร ตลาดคาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 1.00% หลังตลาดแรงงานส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น จากยอดการจ้างงาน และอัตราการมีส่วนรวมในตลาดแรงงาน (Labor-market participation rate) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ในวันศุกร์ ตลาดคาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) 0.25% สู่ระดับ 5.15% หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.2% และมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4%

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่าภาคการบริการของสหรัฐฯ และตลาดแรงงานมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยตลาดคาดว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) ในวันพฤหัสฯ จะลดลงสู่ระดับ 55จุด จากระดับ 56.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-farm Payrolls) ซึ่งจะรายงานในวันศุกร์ ก็จะเพิ่มขึ้นราว 1.2 แสนราย น้อยกว่าที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7 แสนรายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
  • ฝั่งยุโรป – อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ที่จะรายงานในวันอังคารจะชะลอตัวลง สู่ระดับ 0.9% ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ 2% และหนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น
  • ฝั่งเอเชีย – วันจันทร์ ตลาดประเมินว่าภาคการผลิตในจีนยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Mfg. PMI) จากทางการจีนและ Caixin ที่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50จุด ส่วนวันอังคาร ตลาดคาดว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาวะธุรกิจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Tankan Survey) โดยเฉพาะความเชื่อมั่นธุรกิจของผู้ผลิตขนาดใหญ่จะปรับตัวแย่ลงจากระดับ 7จุด เหลือ 1 จุด จากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการแข็งค่าของเงินเยน
  • ฝั่งไทย – วันอังคาร ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.40% ชะลอลงจากระดับ 0.52% กดดันโดยราคาสินค้าพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในเดือนกันยายนลดลงจากปีก่อนหน้าราว 20%
ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้