ดอลลาร์ร่วงลงสู่ Low ในรอบหลายเดือนหลังเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ 0% ยาวถึงปี 2022

 | Jun 11, 2020 09:10

นักลงทุนพากันเทขายสกุลเงินดอลลาร์ทันทีหลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) นายเจอโรม พาวเวลล์แถลงการณ์ว่าเราจะต้องอยู่กับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ใกล้ระดับ 0% ไปกันอีกนาน อย่างน้อยที่สุดคือสิ้นปี 2020 นี้ จากแผนภาพที่แสดงถึงประมาณการนโยบายอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ผู้วางนโยบายไม่เห็นทางที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เลยไปจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังวางแผนที่จะซื้อหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลังและตราสารการเงินที่ผู้ซื้อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MBS) “เท่าที่ธนาคารกลางฯ เห็นว่าจำเป็น” 

 
สถานการณ์จากนี้ไปอีก 18 เดือนที่เอื้อให้การใช้จ่ายดอลลาร์อย่างฟุ่มเฟือยไม่ใช่สิ่งที่ดีกับมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์เลยเพราะการทำเช่นนี้ยิ่งเป็นการบั่นทอนทั้งมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์และฐานะสินทรัพย์สำรองปลอดภัยของดอลลาร์ลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยอมแลกมูลค่าของดอลลาร์เพื่อคงเอาไว้ซึ่งการเติบโตของตลาดหุ้น ความพยายามอุ้มในธุรกิจที่ควรจะล้มแต่ไม่ยอมให้ล้มเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสามารถรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ด้วยเหตุผลทั้งมวลจึงทำให้สกุลเงินหลักที่จับคู่อยู่กับดอลลาร์อย่างยูโร, ปอนด์, ออสเตรเลียดอลลาร์, แคนาดาดอลลาร์และนิวซีแลนด์ดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น สกุลเงินที่ได้รับประโยชน์อย่างเด่นชัดที่สุดคือออสเตรเลียดอลลาร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 1% ขึ้นไปยังระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2019 ในขณะที่กราฟ EUR/USD สามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 1.14 ใกล้กับจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือนเป็นที่เรียบร้อย
ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

 

การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเอาไว้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเฟดยังมองปัญหาไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่ ประธานเฟดถึงกับพูดเองเลยว่าในเฟดไม่มีใครแม้แต่จะคิดเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย แม้ตัวเลขการจ้างงานฯ ในเดือนพฤษภาคมที่พึ่งผ่านมาจะออกมาดีแต่ข้อมูลอัตราการว่างงานที่ออกมาจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (BLS) ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตัวเลขดังกล่าวดีขึ้นและยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าอัตราการว่างงานได้ผ่านจุดที่ตกต่ำที่สุดมาแล้ว 

 

อย่างไรก็ตามในมุมมองที่ดีประธานเฟดบอกว่าเขาเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจากการปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาใกล้ระดับ 0% แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะยังไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าพวกเขาปลอดภัยเหมือนกับสมัยก่อนที่โควิด-19 ระบาด เฟดพร้อมที่จะใช้เครื่องมือช่วยเศรษฐกิจฉุกเฉินได้ตลอดเวลาและพร้อมปรับนโยบายการซื้อหลักทรัพย์หากว่าจำเป็น เฟดมีความจำเป็นต้องดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อทำให้คนที่ตกงานไปมากถึง 22-24 ล้านคนสามารถกลับมามีงานทำเหมือนเดิมได้ จากนี้ไปเราจะยังได้เห็นตัวเลขคนขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ในระดับ 1 ล้านคนขึ้นไปอีกสักระยะ สถานการณ์ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเราจะเห็นภาพรวมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นกว่านี้ ในแง่ของนโยบายการทำงานธนาคารกลางฯ ตอนนี้เฟดได้ผ่านขั้นตอนของการป้องกันไม่ให้เกิดเศรษฐกิจฟืดเคืองมาเป็นการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นข่าวดีที่ไม่ดีมากของเศรษฐกิจสหรัฐฯ


สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่ได้จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (FOMC) ในช่วงเช้าของวันนี้ว่า

 

- การซื้อหลักทรัพย์เช่นพันธบัตรรัฐบาล “เท่าที่จำเป็นในตอนนี้” คือสิ่งที่อยู่ในการพิจารณา
- อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับใกล้กับ 0% ยาวไปจนถึงปี 2022
- ไม่มีทางที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปจนติดลบ
- คาดว่าอัตราการว่างงานจะหดตัวลงไป 9.3% ในปี 2020 แต่การหดตัวจะลดลงเหลือ 6.5% ในสิ้นปี 2021
- ตัวเลข GDP จะหดตัวประมาณ -6.5% ในปี 2020 ก่อนที่จะกลับเป็นบวก 5% ในปี 2021

 
กราฟ USD/JPY ร่วงลงหลังจากทราบผลการประชุม FOMC แต่หากระยะยาวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นตามที่ประธานเฟดมองเชื่อว่าในไม่ช้ากราฟ USD/JPY ก็จะสามารถปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง ถามว่าขาขึ้นในกราฟ EUR/USD, AUD/USD, NZD/USD และ USD/CAD จะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่? คำตอบคือ “ใช่” ที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาได้เพราะนักลงทุนตั้งความหวังกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ V-Shape เอาไว้มาก แต่เนื่องจากมุมมองของเฟดที่เพิ่มความเป็นจริงให้กับตลาดหุ้นมากขึ้นและกราฟเป็นขาขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงเป็นไปได้มากที่กราฟเหล่านี้จะเริ่มปรับฐานพักตัวลง