จับตาประเด็นร้อนการเมืองสหรัฐฯ

 | Sep 28, 2020 03:51

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอลง
    • ประเด็นการเมืองสหรัฐฯจะเป็นที่จับตามองสัปดาห์นี้โดยเฉพาะการโต้วาทีครั้งแรกของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะเดียวกันตลาดก็จะรอลุ้นความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จากสภาคองเกรส
    • ตลาดอาจกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้บ้าง ลดความน่าสนใจของหลุมหลบภัย อาทิ เงินดอลลาร์หากปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19, การเจรจา Brexit ทำให้เงินดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ 
    • กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.35-31.75 บาท/ดอลลาร์
    ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้


    มุมมองนโยบายการเงิน


    • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ในวันพฤหัสบดี ตลาดคาดว่า RBI จะ“คง”อัตราดอกเบี้ย (Repurchase Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00%หลังอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2-6%ทั้งนี้ตลาดคาดว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
    • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ในวันพฤหัสบดี ตลาดคาดว่า BSP จะ“คง”อัตราดอกเบี้ย (Overnight Rate) ไว้ที่ระดับ 2.25%หลัง BSP จะรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากที่ได้ลดดอกเบี้ยลง 1.75% พร้อมกับใช้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งนี้ BSP อาจใช้มาตรการด้านสภาพคล่องเพิ่มเติม หากทั้งเศรษฐกิจและการปล่อยกู้ของธนาคารยังคงฟื้นตัวได้ช้า


    มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก


    • ฝั่งสหรัฐฯ –ตลาดจะรอลุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หนุนโดยการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสำรวจโดย ISM (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายนที่ระดับ 56.3จุด (ดัชนีเกิน 50จุด หมายถึง การขยายตัว) นอกจากนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนกันยายนก็จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90จุด จาก 84.8จุด ทั้งนี้ ความกังวลของตลาดจะอยู่ที่ตลาดแรงงานที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 8.5 แสนรายและอัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่ ที่ระดับ 8.2%
    • ฝั่งยุโรป –ตลาดจะติดตามการเจรจาข้อตกลง Brexit ระหว่าง EU กับ รัฐบาลอังกฤษอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานกาณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจกดดันให้ ECB ต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้
    • ฝั่งเอเชีย –ตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสำรวจโดยรัฐบาลและเอกชน (Official & Caixin Manufacturing PMI) เดือนกันยายน ต่างปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5จุด และ 53.3จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่าภาคธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มธุรกิจโดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ (Tankan Survey) ในไตรมาส 3 จะปรับตัวขึ้นจาก -34จุด สู่ระดับ -22จุด