ปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในโลกยุคหลังโควิด-19

 | Nov 11, 2020 01:14

- อนาคตของเหล่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันระดับโลก
- นโยบายรักษ์โลกในยุคของโจ ไบเดน
- ราคาน้ำมันในยุคหลังโควิด-19

ในเดือนมีนาคมปี 2020 การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาเคยสามารถขึ้นไปทำตัวเลขสูงสุดเอาไว้ที่ 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ซึ่งระดับปริมาณการผลิตดังกล่าวนั้นสูงกว่าที่ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียเคยทำได้ แต่เมื่อไวรัสโคโรนาเข้ามากระทบต่อการทำกิจกรรมนอกบ้านของมนุษย์ก็ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดลง กระทบต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ รัสเซียและซาอุดิอาระเบียจนทำให้เราได้เห็นข่าวการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกมาตลอดทั้งปีจนในที่สุดเหลือแค่เพียง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแม้จะยังไม่ทราบผลอย่างเป็นทางการแต่สื่อทุกสำนักของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศชื่อว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่นาย โจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครตออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้จะเป็นข่าวดีสำหรับการเมืองโลกที่สหรัฐฯ จะกลับเข้ามาอยู่ในรูปในรอยอย่างที่เคยเป็น แต่สำหรับวงการน้ำมันแล้วผู้ประกอบการค่อนข้างมีความเป็นกังวลเพราะทราบดีว่านโยบายของโจ ไบเดนคือการสนับสนุนพลังงานสะอาดลดการพึ่งพาพลังงานในโลกยุคเก่าที่ก่อให้เกิดมลพิษซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการใช้น้ำมัน

อันที่จริงแล้วก่อนการเลือกตั้งก็ได้มีการคาดการณ์ไว้บ้างว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่ต่างก็โหวตเป็นโจ ไบเดน การคาดการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันจากกองทุนUnited States Oil Fund, LP (NYSE:USO)และ United States Brent Oil Fund, LP (NYSE:BNO) ปรับตัวขึ้นลงตามกราฟน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนหรือหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งในขณะที่ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคมบนตลาด NYMEX มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนราวกับว่าต้องการจะบอกใบ้อะไรบางอย่างแก่นักลงทุน

อนาคตของเหล่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันระดับโลก

ในปีนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้เวลานานกว่าปกติเนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการออกมาใช้สิทธิ์ที่คูหาเลือกตั้งแต่เลือกที่จะโหวตผ่านจดหมายแทน ดังนั้นในช่วงวันแรกๆ ของการเลือกตั้งคะแนนของทรัมป์จึงถือว่าจี้ไบเดนมาได้ในระดับที่พอให้เกิดความกดดัน แต่หลังจากที่เริ่มมีการนับคะแนนผลโหวตทางจดหมายก็ปรากฏว่าไบเดนสามารถผลิกกลับมาครอบครองในรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2016 ได้แก่รัฐวิสคอนซิน มิชิแกนและล่าสุดคือรัฐที่ส่งให้โจ ไบเดนได้ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคือเพนซิเวเนีย

แม้จะได้ทราบว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างไม่เป็นทางการแล้ว แต่ที่ยังต้องติดตามกันอยู่คือการนับคะแนนในรัฐจอร์เจียที่จะส่งผลกระทบต่อที่นั่งในสภาสูงด้วย ตอนนี้คะแนนที่นั่งของวุฒิสมาชิกในสภาสูงถือว่าใกล้เคียงกันมากและยังไม่อาจตัดสินได้ หากฝ่ายที่มีเก้าอี้มากกว่าตกเป็นของพรรคตรงข้ามอย่างรีพับลิกัน การบริหารงานของโจ ไบเดนตลอดสี่ปีของเขาก็จะไม่ราบรื่นนักเวลาที่มีความต้องการออกกฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตราต่างๆ ดังนั้นผลการเลือกตั้งในรัฐจอร์เจียจะมีส่วนช่วยกำหนดอนาคตของนโยบายพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

นโยบายรักษ์โลกในยุคของโจ ไบเดน

เมื่อสภาของสหรัฐฯ ในยุคของโจ ไบเดนมีความเป็นไปได้สูงแล้วที่จะได้แบ่งกันในสัดส่วนที่ใกล้เคียงมากๆ หมายความว่าหากผลการเลือกตั้งที่จอร์เจียออกมามีเก้าอี้ของรีพับลิกันที่มากกว่า  การโหวตผ่านกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น หากจะกล่าวว่าทิศทางตลาดพลังงานในสี่ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับผลการลงคะแนนของประชาชนในจอร์เจียก็คงจะไม่ผิดหนัก

หากในปีนี้ที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาตกเป็นของพรรครีพับลิกัน โดโมแครตอาจจะต้องรอไปถึงปี 2022 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเฉพาะในสภาใหม่ที่อาจจะพอให้พวกเขาสามารถดำเนินตามโครงการ “โลกสีเขียว” ของไบเดนได้จริงๆ เพราะในช่วงปีสองปีข้างหน้านี้เราเชื่อว่าไบเดนอาจจะเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมากนักเพราะยังต้องการให้บริษัทเหล่านี้จ้างพนักงานเพื่อลดอัตราการว่างงานในปัจจุบันให้กลับลงมาอยู่ในระดับปกติก่อน

ในขณะเดียวกันสิ่งที่โจ ไบเดน ต้องระวังคือการที่เขาเตรียมตัวจะออกห่างจากการผลิตน้ำมันด้วยตัวเองก็อาจทำให้การซื้อขายน้ำมันกับกลุ่มโอเปกกลับมามีผลเพิ่มมากขึ้น หมายความว่าประชาชนชาวอเมริกันจะได้ใช้น้ำมันที่แพงขึ้น และนั่นอาจนำไปสู่เสียงแห่งความไม่พอใจจากประชาชนภายในประเทศได้

ราคาน้ำมันในยุคหลังโควิด-19

การกลับมาของพรรคเดโมแครตย่อมหมายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมามีผลบังคับใช้ซึ่งรวมไปถึงการลดความสามารถในการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต และส่งออกน้ำมัน รวมถึงกฎข้อบังคับอื่นๆ มากมากมาย ในระยะสั้นเรื่องของโรคระบาดจะยังเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตามเมื่อคืนนี้เราก็พึ่งได้ทราบข่าวดีไปเมื่อบริษัทPfizer Inc (NYSE:PFE)ได้ออกมาประกาศว่าสามารถสร้างวัคซีนที่ต่อกรกับโควิดได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่โจ ไบเดนจะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมกับยาที่ผลิตเสร็จแล้ว ปี 2021 อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มนุษยชาติได้ดีใจอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามหลังจากการเลือกตั้งราคาของก๊าซธรรมชาติก็ยังปรับตัวลดลงจาก $3.40 ลงไปอยู่ต่ำกว่า $2.90 ต่อ MMBtu เมื่อวานนี้