ธปท. ออกมาตรการลดแรงกดดันบาทแข็ง แต่ตลาดกลับไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้จริง

 | Nov 20, 2020 05:51

  • ธปท.ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยส่งเสริมให้คนไทยใช้บัญชีเงินฝากต่างประเทศ (FCD) ได้สะดวกขึ้น พร้อมกับเปิดให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ได้พยายามจับตาพฤติกรรมเก็งกำไรเงินบาท ด้วยการให้นักลงทุนต่างชาติต้องลงทะเบียนก่อนซื้อขายตราสารหนี้ไทย

  • เรามองว่า การเอื้อให้นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยใช้บัญชี FCD และออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นจะเพิ่มโอกาสให้คนไทยบริหารเงินและทำธุรกิจง่ายขึ้นในระยะยาว แต่อาจไม่ได้ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น ขณะที่ การปรับสมดุลเงินบาทอาจต้องใช้เวลาหลายปี

  • ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

    เราคงเป้าหมายเงินดอลลาร์ปลายปี 2020 ที่ 30.15บาท และคงกรอบเงินบาทปี 2021 ที่ 29.00-30.50 บาท

  • ธปท.ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

    • สนับสนุนให้ คนไทย (รายย่อยและผู้ประกอบการ) ใช้บัญชีเงินฝากต่างประเทศ (FCD) มากขึ้น โดยเปิดเสรีในการใช้งาน อาทิ การโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทย ทำให้ผู้ประกอบการ รวมถึงรายย่อยที่ลงทุนในต่างประเทศ สามารถบริหารเงินตราต่างประเทศและความเสี่ยงจากค่าเงินได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

    • ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น สะดวกขึ้น และมีทางเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดย ธปท. เพิ่มวงเงินให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้เองถึง 5 ล้านดอลลาร์ ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ให้วงเงินไว้เพียง 2 แสนดอลลาร์ และไม่จำกัดวงเงิน สำหรับนักลงทุนภายใต้การกับกำกับของ กลต. นอกจากนี้ ธปท. ยังเปิดกว้าง ให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาขายในไทย โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุน ETF

    • สอดส่องพฤติกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ไทย อย่างใกล้ชิด โดยนักลงทุนต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนซื้อขาย (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งจะช่วยให้ ธปท. สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น และสามารถวางกลยุทธ์รับมือความผันผวนค่าเงินที่อาจจะเกิดขึ้นจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเหมาะสม

    เราเชื่อว่า มาตรการลดการแข็งค่าเงินบาทคงแค่ชะลอการแข็งค่าหนักในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อการปรับสมดุลโครงสร้างเงินทุนเคลื่อนย้าย

    • เรามองว่า นโยบายลดการแข็งค่าของเงินบาท คงมีผลแค่ในระยะสั้น เพราะนโยบายผ่อนปรนให้เงินทุนไหลออกไม่ใช่เรื่องใหม่และมักส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อความมั่งคั่งของคนไทยและช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่นอย้ายได้ ขณะเดียวกัน การให้ผู้ส่งออกและบุคคลทั่วไปใช้บัญชี FCD มากขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินระยะยาว เพราะเป็นการเพิ่มผู้เล่นในตลาด พร้อมเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดค่าเงิน

    • เราเชื่อว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดทุน จะใช้เวลาหลายปีในการแก้ไข ดังนั้นเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะแข็งค่าต่อเนื่องหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ในปีหน้า จากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง พร้อมกับ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว หากวัคซีน COVID-19 แจกจ่ายทั่วถึง และแรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ