จับตาทิศทางบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ

 | Mar 22, 2021 00:54

 

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

  • จับตาทิศทางบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดยตลาดอาจผันผวนมากขึ้น ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นตาม

  • เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาด จะช่วยหนุนให้ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ กดดันให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าเร็วเพราะผู้ส่งออกต่างรอขายดอลลาร์ในช่วงใกล้ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์

  • ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

    กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.70-31.20 บาท/ดอลลาร์

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Markit Manufacturing PMI) ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.5 จุด ในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกับภาคการบริการที่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Markit Services PMI) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60.1 จุด นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและรัฐมนตรีคลังต่อสภาคองเกรส ในประเด็นการใช้มาตรการต่างๆ ในการรับมือวิกฤติ COVID-19 ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร และแนวโน้มการใช้มาตรการในอนาคตเป็นอย่างไร ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวอาจช่วยให้เห็นถึงทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้

  • ฝั่งยุโรป – ภาคการผลิตของยุโรปจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนมีนาคม จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 57.8 จุด แม้ว่าภาคการบริการโดยรวมยังคงซบเซา ทว่าก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 46.0จุด จาก 45.7จุด ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริการจะสอดคล้องกับภาพความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ชี้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่จะปรับตัวขึ้นสู๋ระดับ 93.2จุด

  • ฝั่งเอเชีย – แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทว่าธนาคารกลางจีนจะคงอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate (LPR) อายุ 1 ปี และ 5 ปี ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับเพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00%

  • ฝั่งไทย – เราคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งนี้ ธปท. จะเลือกใช้มาตรการส่งผ่านสภาพคล่องที่มีอยู่มากในระบบการเงินไปสู่ภาคส่วนที่มีความต้องการ อาทิ มาตรการ Soft Loans, Asset Warehousing มากกว่าที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนในฝั่งข้อมูลการค้า ตลาดคาดว่า ยอดการส่งออกของไทย (Exports) จะหดตัวราว 2% จากปีก่อน สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนทนเนอร์ ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดดุลการค้า อาจมีแนวโน้มขาดดุลเล็กน้อยได้