บทวิเคราะห์ตลาดเดือนสิงหาคม: “ยังคงเน้นเกมส์รับ” หลัง Delta ยังระบาดหนัก

 | Aug 03, 2021 08:59

Economic & Markets Review

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่า ตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) แต่จะเห็นได้ว่า มีเพียงสินทรัพย์เสี่ยงในฝั่งตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ที่สามารถปรับตัวขึ้นได้ โดยหุ้น DM ปรับตัวขึ้นกว่า +0.8% ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงในฝั่งตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) กลับปรับตัวลดลงหนัก โดยหุ้น EM ดิ่งลงกว่า -5.4% สอดคล้องกับมุมมองของเราในเดือนก่อนหน้าที่มองว่า ปัจจัยการระบาดของ Delta อาจทำให้แต่ละภูมิภาคเผชิญความรุนแรงของการระบาด รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกันไป

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศหลักของฝั่ง DM อาทิ สหรัฐฯ หรือ ยุโรป ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของ DM ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงภาวะการขยายตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตและการบริการ ขณะที่ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและการบริการในฝั่ง EM กลับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นฝั่ง EM ยังได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายหุ้นจีน ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาควบคุมภาคธุรกิจมากขึ้น หลังทางการจีนดำเนินการสอบสวนประเด็น Anti-Trust กับบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อย่าง Alibaba, Tencent, Meituan รวมถึงการถอนถอดแอพพลิเคชั่น Didi ออกจาก App Store หลังบริษัท Didi ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และ ล่าสุด การเข้าควบคุมธุรกิจสอนพิเศษออนไลน์ ที่กำหนดให้บริษัทจะต้องแปรสภาพเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หากดำเนินการสอนในหลักสูตรมาตรฐาน ซึ่งปัญหาการคุมเข้มธุรกิจจีนดังกล่าว ได้ส่งผลให้ นักลงทุนต่างเทขายหุ้นจีนอย่างหนัก โดยตลาดหุ้นจีน H-shares ดิ่งลงกว่า -10.7% ส่วน หุ้นจีน A-shares ก็ปรับตัวลดลง -4.7% ทางด้านตลาดหุ้นฮ่องกง ก็ปรับตัวลงกว่า -7.9% เช่นกัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) จะพบว่า ผู้เล่นในตลาดก็มีความระมัดระวังมากขึ้นจริง ดังจะเห็นได้จากการที่หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Defensive สามารถปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare +1.9% เช่นเดียวกับ หุ้น/สินทรัพย์กลุ่ม Yield-play อย่าง หุ้น utilities +1.9% และ REITs +3.3%

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า หุ้นในกลุ่มเทคฯ กลับสามารถปรับตัวขึ้นกว่า 1.9% ได้เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงกว่า -25bps สู่ระดับ 1.22% จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาด หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 ทั่วโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น และเฟดก็ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ซึ่งบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ทรงตัวในระดับต่ำนั้นทำให้การลงทุนในหุ้นเทคฯ ยังไม่ดูแพงจนเกินไป นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยรวมก็ดีกว่าที่ตลาดคาด (ผลกำไรหุ้นเทคฯ บน S&P500 ที่ประกาศผลกำไรมาแล้วประมาณ 46 บริษัทจาก 80 บริษัท โดยรวมออกมาดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้กว่า 16% )