Reflation Trade กลับมาอีกแล้ว หรือตลาดหุ้นจะหยุดขาขึ้นเอาไว้เพียงเท่านี้?

 | Aug 09, 2021 04:28

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จบสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมได้ด้วยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ต่างก็วิ่งขึ้นปิดสร้างจุดสูงสุดใหม่ ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นจนสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ นอกจากดัชนีทั้งสองรัสเซล 2000 ดัชนีสำหรับบริษัทขนาดกลางไปถึงเล็กก็ปรับตัวขึ้นแต่ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ มีเพียงแนสแด็กเท่านั้นที่ปิดสัปดาห์ด้วยการปรับตัวลดลง

แม้ว่าทุกสัญญาณจะบ่งชี้ไปที่การกลับมาของภาวะ Reflation Trade แต่หากมองอีกด้าน การที่รายงานตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาดีขนาดนี้ก็ยิ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีข้ออ้างน้อยลงหากพวกเขาคิดจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

h2 จะมีสถิติใหม่อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในสัปดาห์นี้?/h2

ก่อนอื่นเราต้องมาเริ่มต้นกันที่ข่าวดีที่สุดของสัปดาห์ที่แล้วกันก่อน รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนกรกฎาคมที่รายงานโดยกรมสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกาปรากฎว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 943,000 ตำแหน่ง นอกจากจะสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ 870,000 ตำแหน่งได้แล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบปี นอกจากนี้อัตราการว่างงานก็ลดลงมาเหลือ 5.4% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาด ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 0.4% 

นอกจากขาลง 0.4% ของแนสแด็กและ 0.5% ของแนสแด็ก 100 ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แทบทุกอย่างสามารถปิดบวกได้หมด แม้กระทั่งรัสเซล 2000 ก็ยังสามารถปิดบวกได้ 0.5% นั่นจึงทำให้ตลาดลงทุนหันกลับมาสนใจ Reflation Trade กันอีกครั้ง 

ตัวเลข 943,000 ตำแหน่งทำให้การวิ่งของตลาดหุ้นในวันศุกร์กลับมาเป็นของหุ้นสายเน้นมูลค่าอีกครั้ง นำโดยกลุ่มการเงิน 2% ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 1.5% กลุ่มพลังงานมาเป็นอันดับสามที่ 0.9% และอันดับสี่คือกลุ่มอุตสาหกรรม 1.5% เมื่อหุ้นสายเน้นมูลค่าปรับตัวขึ้น ย่อมหมายถึงการชะลอตัวของหุ้นสายเติบโต จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นภาพของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 0.1% และกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมยังคงที่อยู่เหมือนเดิม

หากพิจารณาเป็นภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์จะพบว่าหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นมา 3.67% สูงกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเกือบสี่เท่า ที่เติบโตได้เพียง 0.95% เท่านั้น และยังสูงกว่ากลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมเกือบแปดเท่า ซึ่งทำขาขึ้นได้เพียง 0.51% เท่ากับว่าการมีหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (NASDAQ:GOOGL) เฟซบุ๊ก (NASDAQ:FB) และเน็ตฟลิกซ์ (NASDAQ:NFLX) ไว้ในสังกัดไม่ได้ช่วยอะไรเลย และถ้ายิ่งพิจารณาเป็นภาพรายเดือน จะเห็นว่ากลุ่มการเงินเติบโตขึ้น 4.1% มากกว่ากลุ่มเทคโนโลยี 2.9% และกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมเกือบสี่เท่า คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากถึง 25%

อย่าลืมว่าพลังงานถือเป็นหุ้นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากกับข่าว โดยเฉพาะข่าวการเมืองระดับโลก ยกตัวอย่างเช่นขาลงของน้ำมันดิบ 6.4% ในเดือนที่แล้วก็เกิดขึ้นมาจากการทะเลาะภายในระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) ดังนั้นช่วงเวลาที่ไม่มีหุ้นสายเน้นมูลค่ามาขับเคลื่อนตลาด นักลงทุนจึงอาจรู้สึกกลัวเป็นพิเศษ ยิ่งในยุคนี้ที่เราอยู่ภายใต้แรงกดดันจากโรคระบาดมาเกือบจะสองปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะนำเอาเงินลงทุนไปไว้ที่ไหน

อันที่จริงเราสามารถเช็คได้ว่าตลาดหุ้นได้เข้าสู่ภาวะ Reflation Trade แล้วหรือไม่ด้วยการดูพฤติกรรมการเปลี่ยนกลุ่มลงทุน หากยังจำกันได้มีอยู่ช่วงหนึ่ง (ประมาณ 3 เดือน) ที่หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นได้มากถึง 12.3% ในขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมก็ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน 6.6% หากหันไปดูหุ้นกลุ่มเน้นมูลค่าจะเห็นว่ากลุ่มการเงินสร้างขาขึ้นได้เพียง 0.75% กลุ่มอุตสาหกรรม 0.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -3.3% และกลุ่มพลังงาน -6% ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่โอเปกกำลังมีปัญหาภายในกันพอดี

แม้ว่าหุ้นสองกลุ่ม (สายเน้นมูลค่าและสายเน้นการเติบโต) จะมีปัจจัยหนุนกันคนละแบบ แต่เมื่อลองดูผลงานของหุ้นทุกกลุ่มตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นสัญญาณของ Reflation Trade ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะหุ้นทุกกลุ่มสามารถปรับตัวขึ้นได้หมดไม่ว่าจะเป็นพลังงาน + 30.6% การเงิน +28.4% อุตสาหกรรม +16.9% วัสดุก่อสร้าง +16.2% เทคโนโลยี 19.1% และโทรคมนาคม 22.7% เมื่อสัญญาณชัดขนาดนี้ ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานเมื่อวันศุกร์ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อ ทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้หรือไม่

คำตอบประการแรกค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้กับพวกเราพอสมควร การที่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีขนาดนี้ยิ่งทำให้นักลงทุนกล้าเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าข่าวดีดังกล่าวจะยิ่งบีบให้เฟดต้องลดสภาพคล่อง หรืออาจจะร่นระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มออกมาแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า ถ้าเฟดยังไม่รีบตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการเงินตอนนี้ เรามีโอกาสจะได้เห็นเฟดตัดสินใจเซอร์ไพรส์ตลาดสูงมาก ซึ่งนักลงทุนก็รู้ถึงความเสี่ยงนี้ดีอยู่แล้ว และมีโอกาสเทขายอย่างรุนแรงเพียงแค่ได้ยิน “ข่าวลือ” ก็ได้ 

คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในบอร์ดบริหารของธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าขอเพียงตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาดีอีกสองครั้ง ก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนใจ ลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงพอสมควรสำหรับผู้ที่มีคำสั่งซื้ออยู่ในตอนนี้

คำตอบประการที่สองคือมีนักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มประเมินแล้วว่าขาขึ้นที่ตลาดหุ้นเป็นอยู่ในตอนนี้ขึ้นมาสูงเกินไป และไม่เหมาะที่จะซื้อ หัวหน้านักวางกลยุทธ์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) วิเคราะห์ว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานลดลงมา 14% ทั้งๆ ที่ตัวเลขการจ้างงานและรายงานผลประกอบการออกมาดีขนาดนี้ นายวอร์เรน บัฟเฟต นักลงทุนในตำนานและเจ้าของบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮตทาเวย์ (NYSE:BRKb) ก็เชื่อเช่นนกันว่าตลาดตอนนี้ยังไม่สมควรเข้าซื้อ โดยวัดจากการซื้อหุ้นของบริษัทเขาคืนที่ใช้เงินเพียง $6,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จำนวนเงินดังกล่าวถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจะวิเคราะห์แบบนั้น แต่สำหรับเราแล้วกลับมองว่าตลาดหุ้นยังมีโอกาสขึ้นต่อไปได้อีกสักระยะ ยิ่งเมื่อได้เห็นพฤติกรรมการวิ่งของราคาดัชนีดาวโจนส์และแนสแด็ก ยิ่งทำให้เราเห็นความเป็นไปได้