แกะรอยความสัมพันธ์ทองคำกับค่าเงินดอลลาร์และบิทคอยน์

 | Aug 16, 2021 02:30

ราคาทองคำ ตั้งแต่ต้นปี 2021 สร้างผลตอบแทน -6% (ตัวเลข ณ วันที่ 14 ส.ค.) ปัจจัยลบที่กดดันคือค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่กลับมาเติบโตต่อเนื่องทำให้ตลาดมองว่าการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างการทำ QE และกดดอกเบี้ยต่ำจะถูกยกเลิกเร็วกว่าที่คาด

ต้องบอกว่าการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงวิกฤตซับไพร์มเป็นแรงขับเคลื่อนราคาทองคำให้เป็นขาขึ้นยาวนานถึงสามปีสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึงระดับ 180% นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2009 จนถึงจุดสูงสุดในเดือนมกราคมปี 2012 ที่ระดับ 1,925 ดอลลาร์

แต่หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ทำการถอน QE ออกจากระบบ ราคาทองคำจึงเป็นขาลงมายาวนานเกือบ 5 ปี และราคาได้ลดลงจากจุดสูงสุดถึง 45%

มาถึงวิกฤตโควิดล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการทำ QE อีกครั้ง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น 42% นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ Black Thursaday โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ 2,081 ดอลลาร์

ทว่าหลังจากนั้น ราคาทองคำ ได้ปรับตัวเป็นขาลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงมาแล้วเกือบ 20% ทั้งที่วงเงินในการทำ QE รอบนี้มีไม่จำกัดซึ่งสูงกว่าการทำ QE รอบที่แล้วที่มีการจำกัดวงเงินประจำเดือน

อาจเป็นเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯมองเห็นถึงผลเสียของการทำ QE ว่าจะส่งผลเสียต่อระบบการเงินในระยะยาว โดยเฉพาะงบดุลของรัฐบาลสหรัฐฯที่เข้าไปซื้อพันธบัตรของ FED เองที่พุ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทันทีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ธนาคารกลางสหรัฐฯจึงให้สัญญาณถึงการลดระดับการอัดฉีดสภาพคล่องลง