เตรียมรับความผันผวนและความเสี่ยงกับเดือนที่ได้ชื่อว่าหนักที่สุดสำหรับตลาดลงทุนสหรัฐฯ

 | Aug 30, 2021 04:31

เพียงไม่นานเราก็กำลังจะก้าวเข้าสู่เดือนที่ 9 ของปี 2021 กันแล้ว สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ นี่คือเดือนที่ต้องจับตามองมากที่สุดเดือนหนึ่ง เพราะตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา เดือนกันยายนได้ชื่อว่าเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะทำผลงานได้แย่ที่สุดในรอบปี และจากขาขึ้นที่นักลงทุนยังสนุกสนานกันอยู่นั้น จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าดัชนีหลักทั้งสี่ไม่ว่าจะเป็นเอสแอนด์พี 500 แนสแด็ก ดาวโจนส์และรัสเซล 2000 จะยังรักษาขาขึ้นที่ทำสถิติจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้อยู่หรือไม่ เพราะนอกจากสถิติของเดือนกันยายนแล้ว ยังมีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่นวดตลาดมาอย่างยาวนาน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แนวโน้มขาขึ้นยังสามารถคุมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ต่อ หลังจากที่ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็คสัน โฮล ได้ข้อสรุปว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อาจจะเริ่มส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในปีนี้ นี่คือคำพูดที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ประกาศออกมาด้วยตัวเอง ถึงแม้อาจจะฟังดูเป็นข่าวดีในระยะสั้น แต่ข่าวดีนี้กลับถูกรุมล้อมไปด้วยความเสี่ยงทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้น นั่นจึงทำให้ดัชนีหลักของสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ รัสเซล 2000 ปรับตัวขึ้นมากถึง 3% แม้แต่แนสแด็ก 100 ที่มักจะปรับตัวขึ้นเฉพาะยามเศรษฐกิจมีปัญหา ก็ยังประตัวขึ้นได้จนเกือบถึง 1% หุ้น 11 กลุ่มของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ หุ้นกลุ่มพลังงานกระโดดขึ้นมา 2.7% ตามมาด้วยกลุ่มการเงินและวัสดุก่อสร้างตัวละ 1.3% กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมปรับตัวขึ้น 1.6% เมื่อพิจารณาภาพรวมรายสัปดาห์จะเห็นว่ากลุ่มพลังงานทะยานขึ้น 7.5% การเงิน 3.5% วัสดุก่อสร้าง 2.6%  อุตสาหกรรม 2.25% และผู้ให้บริการโทรคมนาคม 2.4%

อันที่จริงนักลงทุนหลายสำนักได้ประเมินมาตั้งแต่ก่อนการประชุมที่แจ็คสัน โฮลแล้วว่าครั้งนี้นายเจอโรม พาวเวลล์อาจจะยังเลือกที่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ดังเดิม แม้กระทั่งระยะเวลาการทำ QE ที่ชัดเจน เฟดก็ยังไม่ยอมประกาศ ที่สำคัญประธานเฟดยังได้พูดด้วยว่า “ตัวเลขการจ้างงานยังสามารถเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้” นี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณบอกกับนักลงทุนทางอ้อมว่าถ้ารายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนสิงหาคมที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เราอาจจะได้เห็นการประกาศระยะเวลาลด QE ภายในการประชุม FOMC ของเดือนกันยายน 

ถือเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับนักวิเคราะห์อย่างเราเหมือนกันที่ยังคงเห็นนักลงทุนกระโดดเข้าไปในตลาดหุ้น ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าเวลาของพวกเขาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว หากเฟดประกาศลด QE กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในตอนนี้อาจจะเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่เดิมก็ปรับตัวขึ้นได้ช้ากว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้ว ยังจะต้องมาเจอการปรับลด QE ซ้ำเข้าไปอีก ที่น่าตกใจก็คือเมื่อย้อนกลับไปดูตลาดหุ้นตั้งแต่จุดต่ำสุดในปี 2020 จะเห็นว่าดัชนีรัสเซล 2000 ปรับตัวขึ้นมาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ 135% ในขณะที่แนสแด็ก 100 ปรับตัวขึ้นมา 128% ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่เมื่อไปพิจารณาที่กราฟ จะเห็นว่ารูปทรงขาขึ้นของแนสแด็ก 100 กลับทำได้อย่างมั่นใจมากกว่ารัสเซล 2000 จากรูปเปรียบเทียบลักษณะการวิ่งทั้งสองภาพด้านล่างจะเห็นว่าแนสแด็ก 100 หลุดกรอบไซด์เวย์ระยะสั้นขึ้นมาแล้ว ในขณะที่รัสเซล 2000 ยังเป็นขาขึ้นที่อยู่ในกรอบไซด์เวย์ขนาดใหญ่