ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจและรายงานผลประกอบการ

 | Nov 08, 2021 03:30

ถึงแม้ว่าตลาดลงทุนของสหรัฐอเมริกายังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ แต่นักวิเคราะห์กลับเชื่อว่าตัวเลขการจ้างงานฯ ที่ฟื้นคืนชีพกับรายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดฯ ยังคงวิ่งอยู่บนเส้นทางขาขึ้นต่อไป อย่างที่คำโบราณมักจะกล่าวเอาไว้อยู่เสมอว่า ถึงความหวังจะมีเพียงน้อยนิด แต่มนุษย์ก็จะขว้ามันเอาไว้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

หากจะให้มองกันจริงๆ แล้วนอกจากรายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชน และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ตลาดลงทุนยังไม่มีหลักฐานเป็นชิ้นใหญ่ๆ จริงๆ ว่าควรมีประเด็นอะไรมาทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้อีก ในวันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศเริ่มปรับลดสภาพคล่องจาก $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงมาในสัปดาห์ที่แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ย้ำชัดว่าการปรับลดวงเงิน QE ครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีตัวเลขการปรับลดขั้นต่ำต่อเดือนอยู่ที่ $15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้ถ้าเห็นสมควร แต่ที่แน่ๆ คือการปรับลด QE ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ปฏิเสธว่าหนึ่งในความหวังหลักของตลาดลงทุนตอนนี้คือรายงานตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ที่ถึงแม้ว่าจะเจอแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังสามารถแสดงรายงานตัวเลขผลกำไรออกได้ หุ้นของบริษัทบางตัว (โดยเฉพาะกลุ่มเทคฯ) ต้องใช้คำว่ามีมูลค่าเกินความเป็นจริงไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นหุ้นอัลฟาเบต (NASDAQ:GOOGL) บริษัทแม่ของกูเกิล ที่ตอนนี้มีค่า P/E อยู่ที่ 26.6 ในขณะที่ดัชนีแนสแด็กมีค่า P/E อยู่ที่ 21.1 แอปเปิล (NASDAQ:AAPL) มีค่า P/E อยู่ที่ 26.2 เทียบกับหุ้นกลุ่มเทคฯ เพื่อการสื่อสารทั้งหมด ที่มี P/E อยู่ที่ 26.4 สิ่งที่นักลงทุนแอบกังวลอยู่มีเพียงนิดเดียวคือการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดตัดสินใจทำอะไรที่อยู่เหนือการคาดการณ์

สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับเราก็คือ นักลงทุนในยุคปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “มีมูลค่ามากเกินไป” เท่าไหร่ พวกเขากลับมองว่าขาขึ้นของกลุ่ม “5 เทพหุ้นเทคฯ” (FAAMG) อย่างแอปเปิล ไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) แอมาซอน (NASDAQ:AMZN) กูเกิล กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในยุคที่เทคโนโลยีคือทุกสิ่ง อันที่จริง บรรดาหุ้นชื่อดังเหล่าถือเป็นกระดูกสันหลังของดัชนีหลักของสหรัฐอเมริกาด้วย มูลค่าตามราคาตลาดของกลุ่ม FAAMG ในปัจจุบันคิดเป็นเกือบ 15% ของดัชนีเอสแอนด์พี 500

ก่อนปิดตลาดลงทุนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นได้เพียง 0.52% ทำผลงานได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ปรับตัวขึ้นมา 0.64% เมื่อเทียบผลงานขาขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ กลุ่มเทคฯ ทำได้เพียง 3.44% ในขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยทำได้ 0.64% หรือจะเป็นสัญญาณว่านักลงทุนกำลังเริ่มกระจายความเสี่ยงจากกลุ่มเทคฯ ไปอยู่ในหุ้นกลุ่มอื่น? เพราะเมื่อเทียบกราฟรายเดือน ก็พบว่ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้นได้ 17.31% ในขณะที่เทคฯ ทำได้ 11.26% และถ้าซูมออกมาดูไกลกว่านั้น จะพบว่าหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้นได้ 15.92% ตลอดระยะเวลาสามเดือน ในขณะที่กลุ่มเทคฯ สามารถทำได้เพียง 7.8% เท่านั้น

ถึงขาขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ จะดูแล้วชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามดัชนีหลักทั้งสามของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น เอสแอนด์พี 500  ดาวโจนส์และแนสแด็ก 100 ก็สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นสถิติของตัวเองได้ เอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นเจ็ดวันติดต่อกัน ดัชนีดาวโจนส์สร้างขาขึ้นที่ลากยาวที่สุดในรอบ 24 เดือน แนสแด็ก 100 สร้างขาขึ้นติดต่อกันได้นานที่สุดในรอบสองปี แม้กระทั่งดัชนีบริษัทเอกชนขนาดเล็กอย่างรัสเซล 2000 ยังสามารถสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ และทำขาขึ้นห้าวันติดต่อกันได้

สาเหตุที่ทำให้รัสเซล 2000 ปรับตัวขึ้นได้ นักวิเคราะห์มองว่าเป็นอานิสงส์มาจากข่าวดีที่บริษัทไฟเซอร์ (NYSE:PFE) สามารถผลิตยาเม็ดต้านไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว ข่าวดีนี้สนับสนุนให้หุ้มกลุ่มวัฐจักรปรับตัวขึ้น ซึ่งดัชนีรัสเซล 2000 มีหุ้นกลุ่มนี้สังกัดอยู่เยอะ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ก็ได้รับอานิสงส์ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

แน่นอนว่าเราต้องไม่ลืมพูดถึงปัจจัยสนับสนุนอีกประการที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ นั่นคือรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนตุลาคม ครั้งนี้ตัวเลขนอนฟาร์มสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ไปได้ ด้วยตัวเลขการจ้างงาน 531,000 ตำแหน่ง มากกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์ประเมินเอาไว้ที่ 450,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการว่างงานก็ลดลงมาเป็น 4.6% และตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ขาขึ้นในตลาดหุ้น สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจอเมริกา แต่จุดที่น่าสนใจคือ คนกลับจะหันมาถือพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น และกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง อย่างเช่นในรุ่นอายุ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงมาวิ่งต่ำกว่า 1.5 จุด คำถามคือถ้าคนมีความเชื่อมั่นกับผลประกอบการของบริษัท เอกชน แล้วจะมาถือพันธบัตรรัฐบาลให้อัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวลดลงทำไม?