สรุปแนวโน้มตลาดปี 2022 โดย Krungthai Global Markets

 | Dec 29, 2021 01:55

Macroeconomic and Markets Outlook 2022 by Krungthai Global Markets

Global Economic Growth Outlook

สำหรับในปี 2022 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2021 ได้ไม่น้อยกว่า +4.7% แต่ทว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจมีลักษณะที่แตกต่างระหว่างครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลัก

โดยในช่วงครึ่งปีแรกนั้น เราประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนทั่วโลกในช่วงต้นปีจะกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป (Divergent Recovery) ตามความพร้อมในการรับมือการระบาด อาทิ ความสามารถในการแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงขีดจำกัดของระบบสาธารณะสุข และการเลือกใช้นโยบายควบคุมการระบาดของรัฐบาล

ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

โดยในฝั่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีความสามารถในการแจกจ่ายวัคซีนที่ก้าวหน้าไปมาก (สัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนครบโดสเกิน 65%) และเริ่มมีการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shots) จะสามารถผ่านพ้นปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอนได้โดยที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีไม่มากนัก ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) อาจมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจและได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนมากกว่าฝั่ง DM จากภาพรวมการแจกจ่ายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรน้อยกว่า (สัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนครบโดสน้อยกว่า 50%)

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ว่าจะฝั่ง DM หรือ EM อาจไม่ได้ซบเซาหนักเหมือนช่วงที่มีการระบาด COVID-19 ระลอกก่อนหน้า เนื่องจากผู้คนทั่วโลกต่างเริ่มปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับวิถี New Normal และรัฐบาลทั่วโลกพยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดแบบการระบาดในระลอกที่ผ่านๆมา นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเบื้องต้นล่าสุด ยังชี้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shots) รวมถึง ยาต้าน COVID-19 อย่าง PAXLOVID ของ Pfizer นั้นจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตหรือนอนโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หากไม่มีการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอน เรามองว่า การระบาดของ COVID-19 อาจมีความน่ากังวลน้อยลงตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2022

ทั้งนี้ การระบาดของโอมิครอนอาจส่งผลให้ปัญหาด้าน Supply Chain ยืดเยื้อและยาวนานกว่าคาดได้ โดยกว่าที่ปัญหาด้าน Supply Chain จะเริ่มคลี่คลายลงได้อาจเป็นช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ซึ่งเราคาดว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้ปัญหาด้าน Supply Chain คลี่คลายได้เร็วนั้น คือ การอนุมัติใช้วัคซีน mRNA และยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของประเทศจีน ซึ่งปัญหาด้าน Supply Chain ที่ยืดเยื้อกว่าคาด อาจทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงแรกของครึ่งหลังปี 2022 ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระยะแรก

เราประเมินว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังนั้นจะมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลก (Synchronized Recovery) ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฝั่ง EM กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและเป็นฝ่ายนำการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกได้ ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ EM ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จะสามารถช่วยหนุนให้นักลงทุนหันมาสนใจการลงทุนในตลาด EM ได้มากขึ้น หลังจากที่ในปีนี้ นักลงทุนต่างเน้นลงทุนในฝั่ง DM เป็นหลัก ส่งผลให้ตลาด EM โดยรวมเผชิญแรงขายสินทรัพย์สุทธิ อาทิ ตลาดหุ้นไทยก็ถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิไม่น้อยกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท

แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2021 แต่ระหว่างทางก็ยังมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังนอกเหนือจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงปัญหา Supply Chain ก็คือ ปัญหาเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จนส่งผลให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด เพราะการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วเกินไป อาจกดดันให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจสะดุดลงได้ ซึ่งล่าสุดหลายธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางฝั่ง EM ได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อในปี 2021 ขณะที่ธนาคารกลางฝั่ง DM โดยเฉพาะธนาคารกลางหลักของโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็เริ่มกังวลปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น จนส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ในปี 2022

และนอกเหนือจากปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงการกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและอาจมองข้ามไม่ได้ คือ ปัญหาการเมือง (Political Risk) และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งประเด็นการเมืองที่ต้องติดตามคือ การเลือกตั้งกลางเทอมในฝั่งสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะพลิกภาพรวมของสภาคองเกรส จากปัจจุบันที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากทั้งสองสภาพ เป็นฝั่งพรรครีพลับริกันขึ้นมาแทนในสภาผู้แทนหรือในวุฒิสภา ซึ่งการเปลี่ยนโฉมหน้าของสภาคองเกรสอาจส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีความยากลำบากมากขึ้น

ส่วนปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) โดยเฉพาะความขัดแย้งในเกือบทุกด้านระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นก็เป็นสิ่งที่ควรจับตาเช่นกัน เพราะหากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะฝั่งประเทศจีน เรามองว่า ก็มีโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะหันหน้ามาใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเพื่อขัดขวางหรือกดดันการขยายอำนาจเชิงเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และทางทหาร อาทิ การคุมเข้มหรือเพิ่มกฎระเบียบในการรายงานผลประกอบการของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ การสร้างพันธมิตรหรือวางกำลังทหารในแถบเอเชีย เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงจุดยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้และบริเวณใกล้เคียง

Thailand Economic Outlook 2022

ในส่วนของปี 2022 เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องและอาจโตได้ถึง +3.8% (จากการประมาณโดย Krungthai COMPASS) แต่เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี การฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจสะดุดลงบ้างจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทว่า ความพยายามในการควบคุมการระบาด รวมถึงการเร่งแจกจ่ายวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้นจะสามารถช่วยลดความรุนแรงของการระบาดและส่งผลให้รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดจนกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาลง อีกทั้งคนไทยก็เริ่มปรับใช้ชีวิตให้เข้ากับวิถี New Normal มากขึ้น ดังนั้น เรามองว่าหากมีการระบาดระลอกใหม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้ซบเซาลงหนักมากเท่ากับการระบาดในระลอกก่อนหน้า ดังจะเห็นได้จากช่วงที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชี้วัดจาก (Google (NASDAQ:GOOGL) Mobility Data) ก็ไม่ถดถอยจนถึงจุดต่ำสุดในการระบาดระลอกแรก สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้คนต่อวิถีชีวิต New Normal และมาตรการของภาครัฐที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างการคุมการระบาดและการเดินหน้าเศรษฐกิจ

จากแนวโน้มปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่อาจกดดันการบริโภคภาคเอกชนซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย (สัดส่วนราว 50% ของจีดีพี) ในช่วงครึ่งแรกของปี รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเพิ่มเติม เพื่อพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคให้ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี โดยรัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มเติมหลังจากที่รัฐบาลได้เพิ่มเพดานการกู้หนี้สาธารณะได้ถึง 70% ของจีดีพี พร้อมกับเร่งเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย อาทิ มาตรการคนละครึ่ง หรือ มาตรการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็อาจช่วยหนุนให้การบริโภคภาคเอกชนสามารถโตได้ไม่น้อยกว่า +3.8% (จากการประมาณโดย Krungthai COMPASS)

นอกเหนือจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน เศรษฐกิจไทยจะยังได้แรงหนุนต่อเนื่องจากการขยายตัวของการค้าโลกสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ การส่งออกของไทยโตขึ้นกว่า 3.9% (จากการประมาณโดย Krungthai COMPASS) อย่างไรก็ดี ต้องจับตาแนวโน้มปัญหาด้าน Supply Chain ว่าจะยืดเยื้อหรือทวีความรุนแรงมากกว่าคาด จากปัญหาการระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปี 2022 หรือไม่ เพราะปัญหาด้าน Supply Chain อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงต่อ รวมถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การกลับมาของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเรามองว่า การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการระบาดโอมิครอนอาจเริ่มสงบลงได้และไม่น่ากังวลในช่วงปลายไตรมาสแรกหรือต้นไตรมาสที่ 2

อนึ่ง การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ซึ่งต้องรอจังหวะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้และเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งประเทศจีน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้น หากไม่มีการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความรุนแรงกว่าโอมิครอนมาก เราประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 6 ล้านคน ในปี 2022 อย่างไรก็ดี ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6 ล้านคน ยังห่างไกลจากช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 ที่สูงเกือบ 40 ล้านคน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ถึงจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนวิกฤติได้

ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะเริ่มมีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 นั้น จะช่วยทำให้ เงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากนัก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้เงินเฟ้อของไทยเร่งตัวไปมาก คือ ระดับราคาสินค้าพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเราคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปสูงมากเกือบ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่อาจปรับตัวขึ้นได้ราว 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ ไม่เกิน 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างกลุ่ม OPEC+ และ Shale Oil ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้สภาวะของตลาดน้ำมันเริ่มเปลี่ยนจากภาพ Supply Deficit เป็น Supply Surplus ได้ในช่วงปลายปี 2022 อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทยโดยเฉลี่ยอาจอยู่ที่ระดับ 1.6%-1.7% ได้ในปี 2022 สอดคล้องกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2021 แต่ทว่า เงินเฟ้อจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สอดคล้องกับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุดที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจ ทำให้โดยเรามองว่า ธปท. จะตัดสินใจคง ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% จนกว่าเศรษฐกิจพ้นหลุม COVID-19 โดยถ้าหากพิจารณาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นได้ว่า กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติ COVID-19 อาจเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ซึ่งจะเริ่มเป็นจังหวะที่การท่องเที่ยวจากต่างชาติกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นมาก ซึ่งเรามองว่า บนสมมติฐานที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท. และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีในช่วงปลายปี 2023 ธปท. อาจตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง สู่ระดับ 0.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

อย่างไรก็ตาม ธปท. อาจเผชิญแรงกดดันให้จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ได้ หากทั่วโลกเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว โดย เรามองว่า หากธนาคารกลางหลัก อย่าง เฟดสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว เช่น ขึ้น 3 ครั้งในปี 2022 และขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้งในปี 2023 ก็มีโอกาสที่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของไทยอาจขยับขึ้นมาเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งอาจจะคล้ายกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังสุด ที่ กนง. ไม่สามารถคงดอกเบี้ยได้ตลอด หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

Thailand Government Bond Outlook 2022

เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้น อาทิ บอนด์ยีลด์ 2 ปี ของไทยนั้นมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 0.60%-0.70% จากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี 2022 ของ ธปท. นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบการเงินที่อยู่ในระดับสูงและแนวโน้มบอนด์ยีลด์ระยะยาวเป็นขาขึ้นจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือบอนด์ยีลด์ระยะสั้น (Shorten Duration) และกดดันให้บอนด์ยีลด์ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 2 ปี ของไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 0.80%-0.90% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีคณะกรรมการบางท่านโหวตสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยได้

ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะกลางอย่าง บอนด์ยีลด์ 5 ปี มีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มการกู้ยืมเงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2022 ซึ่งอาจทำให้บอนด์ยีลด์ 5 ปี ถูกกดดันจากปริมาณบอนด์ที่รัฐบาลต้องออกในอนาคต รวมถึงการทำ Bond Switching ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 5 ปี สามารถปรับตัวขึ้นจากระดับปัจจุบันแถว 1.27% สู่ระดับ 1.40%-1.50% ได้ในช่วงปลายปี 2022

สำหรับบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10ปี มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนหลัก 2 ปัจจัย ดังนี้

  1. การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเราคาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นจากระดับปัจจุบัน สู่ระดับ 1.70% ได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดและภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.00%-2.10% ในช่วงครึ่งแรกของปี ได้เช่นกัน

  2. มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อปริมาณบอนด์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามการกู้เงินเพิ่มเติมของรัฐบาลไทย รวมถึงการทำ Bond Switching ในไตรมาสแรกก็จะมีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี อาจเริ่มชะลอลงและอาจเรียกได้ว่าแนวโน้มบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยในช่วงครึ่งหลังอาจมีลักษณะ Sideways Up และอาจจบสิ้นปีที่ระดับ 2.10-2.20% เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปีไทย อาจเริ่มเผชิญปัจจัยกดดันการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ อาทิ

  1. แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เริ่มลดลง เพราะหากเฟดสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 และส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลแนวการเติบโตในอนาคตของสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อไปมากได้ยากหรืออาจย่อตัวลงได้ในบางจังหวะ นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี สหรัฐฯ จะเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง บอนด์ 10ปี มากขึ้น (หลังจากที่นักลงทุนต่างลดการถือครองบอนด์ระยะยาว) กดดันการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

  2. สถานะการถือครองบอนด์ระยะยาวของผู้เล่นในตลาดบอนด์ไทยมีไม่มากนัก ทำให้หากตลาดปิดรับความเสี่ยง หรือ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปมาก ผู้เล่นบางส่วนก็พร้อมที่จะ Buy on Dip ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยยังคงเป็น

  1. แนวโน้มการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.80%-1.90% ในช่วงปลายปี 2022 ได้หากเฟดตัดสินใจทยอยปรับลดงบดุล (Balance Sheet Reduction) หลังจากที่เฟดจะสามารถยุติการทำคิวอีได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022

  2. ปัจจัยปริมาณการออกบอนด์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการกู้ยืมเงินของรัฐบาล รวมถึงการทำ Bond Switching ในช่วงปลายปี จะยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีไทย ปรับตัวขึ้นได้บ้าง

SET Index Outlook 2022

เรามองว่านักลงทุนได้คลายกังวลจากข่าวการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอนไปพอสมควรเเล้ว สังเกตได้จาก SET ปรับตัวกลับขึ้นมาที่ระดับใกล้เคียง new high ของปีที่บริเวณ 1,650 จุด

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2022 เรามองว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อย โดยมีเป้าดัชนี SET Index อยู่ที่ 1,730 จุด (สมมติฐานกำไรตลาดฟื้นตัว+12% YoY และอ้างอิง P/E Ratio ที่ 18.5 เท่า) โดยเรามีสมมติฐานว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะเรามองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว จากการที่ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง

นอกจากนี้ ตลอดทั้งปี 2021 นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่า 12% ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่เรามองว่าหุ้นไทยจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เยอะ เพราะว่า ในระยะยาวประเทศไทยยังมีปัญหาจากโครงสร้างประชากรและการที่บริษัทจดทะเบียนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรม Old Economy

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้รอซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวลบและทำให้ SET Index ปรับตัวลง โดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,600 จุด สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2022 แนะนำให้กระจายการลงทุนในกลุ่มดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ (Reopening Theme Plays) เช่น กลุ่มธนาคารเเละกลุ่มค้าปลีก

  2. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากปัญหาโครงสร้างประชากร เช่น กลุ่มโรงพยาบาล

  3. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

Thai Baht Outlook 2022

เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันระหว่างครึ่งแรกของปีหน้ากับครึ่งหลังของปี ตามโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระยะแรก ก่อนที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี หนุนโดยการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของการท่องเที่ยวและภาพการฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกันของเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งการท่องเที่ยวจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีแนวโน้ม Sideways ในกรอบ 32.75-33.50 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนอาจไม่ได้น่ากังวลมากอย่างที่คิดและสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับควบคุมได้ หากรัฐบาลทั่วโลกปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด รวมถึงเร่งการแจกจ่ายวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การประกาศอนุมัติใช้ยารักษา PAXLOVID ล่าสุดของ FDA สหรัฐฯ ก็จะสามารถช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เช่นกัน เพราะยา PAXLOVID ก็มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี ดังนั้น ในอนาคตการระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์ใหม่ก็อาจไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักที่กำลังเผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอน อย่างยุโรป รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้สกุลเงินหลักทยอยแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้ามีจุดที่ต้องลุ้นคือ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงานและแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงการประชุมเฟดในเดือนมีนาคมระหว่างวันที่ 15-16 ซึ่งต้องติดตามว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนั้นทันที หรือ มีการส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีหรือไม่ เพราะท่าทีการปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดก็อาจกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนในช่วงดังกล่าวได้ อีกทั้งสถิติในอดีตของรอบการขึ้นดอกเบี้ยเฟดก็ชี้ว่า เงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ยราว 4% ในช่วง 6 เดือนก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ทำให้ในช่วงครึ่งแรกที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น เงินบาทก็จะขาดแรงหนุนและเสี่ยงที่จะผันผวนในด้านอ่อนค่าได้

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในฝั่งภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งปัญหาด้าน Supply Chain ก็มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงลดผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ส่งผลให้ในช่วงครึ่งหลังจะเริ่มเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถทยอยกลับมาเป็นบวกได้

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มเติม เพราะโครงสร้างตลาดหุ้นไทยที่เป็นหุ้นกลุ่ม Old Economy ก็จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแรงกดดันจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางก็จะมีน้อยกว่า หุ้นในกลุ่ม New Economy หรือ หุ้นกลุ่มเทคฯ ที่มักจะเจอแรงเทขายในช่วงตลาดกังวลการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลาง

ดังนั้นจึงมองได้ว่า เงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ก็จะได้แรงหนุนจากทั้งปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นและฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและอาจแตะระดับ 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ณ สิ้นปี 2022 อย่างไรก็ดี หากการท่องเที่ยวจากต่างชาติไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่คาดไว้หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่า 5 ล้านคน หรือ ปัญหา Supply Chain ยืดเยื้อกว่าคาด ก็มีโอกาสที่เงินบาทอาจจะไม่ได้แข็งค่าเท่าที่ประเมินไว้และอาจจบสิ้นปีแถว 32.50 บาทต่อดอลลาร์

Risk Factors to keep eyes on

ความเสี่ยงต่อตลาดการเงินในปี 2022 ที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  1. ภาวะตลาดการเงินที่มีแนวโน้มจะผันผวนสูงจากการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดสามารถลดสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงได้เร็ว เพราะสภาพคล่องในตลาดไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากเหมือนเช่นในปี 2564

  2. ปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาด้าน Supply Chain ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหากปัญหา Supply Chain ยืดเยื้อกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ และยิ่งส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้น

  3. ปัญหาการเมือง (Political Risk) และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งประเด็นการเมืองที่ต้องติดตามคือ การเลือกตั้งกลางเทอมในฝั่งสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะพลิกหน้าตาของสภาคองเกรสและอาจส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีความยากลำบากมากขึ้น ส่วนประเด็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ยังคงเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่เรามองว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะกลับไปสู่จุดเดิมได้ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการทหาร ดังนั้นในอนาคตจึงอาจเห็นการออกนโยบายจากรัฐบาลทั้งสองฝั่งที่อาจกดดันตลาดการเงินได้

ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงในตลาดการเงินปีหน้า เรามองว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยพยายามปิดความเสี่ยงตามต้นทุนการทำธุรกิจและพยายามลดการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Options ควบคุ่ไปกับ Forwards และ Spots ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

Summary of Our 2022 Markets Calls

  • เฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง ครั้งละ 25bps ในไตรมาสที่ 2, 3 และ 4

  • ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี ที่ระดับ 0.50%

  • บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แตะระดับ 1.70% ภายในครึ่งแรก และจบสิ้นปี 1.85%

  • บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย แตะระดับ 2.00%-2.10% ภายในครึ่งแรก และจบสิ้นปี 2.15%

  • SET Index ทยอยปรับตัวขึ้น โดยมีเป้าที่ระดับ 1,730 ณ สิ้นปี 2022

  • เงินบาทแกว่งตัว Sideways และทยอยแข็งค่าเล็กน้อยในกรอบ 32.75-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นชัดเจนและจบสิ้นปีแถว 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์