ลุ้น BOE และ ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่?

 | Jan 31, 2022 01:29

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงผันผวนหนักจากความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาด

  • จับตาการประชุมของธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าทั้งสองธนาคารกลางหลักจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกับเฟดหรือไม่ นอกจากนี้ ควรติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

  • เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ หาก BOE หรือ ECB ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็อาจหนุนค่าเงินปอนด์หรือเงินยูโรและกดดันเงินดอลลาร์ได้ ส่วนเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง ถ้าตลาดการเงินยังผันผวนสูงและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงซึ่งจะมีผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การปรับแผนรับมือการระบาดของรัฐบาลที่เตรียมประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) อาจช่วยหนุนให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก ส่วนแนวต้านสำคัญเงินบาทจะอยู่ใกล้ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์

  • ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

    มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
    33.10-33.60
    บาท/ดอลลาร์

  • มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

    • ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่า ผลกระทบของการระบาดโอมิครอนอาจกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมกราคมที่จะลดลงสู่ระดับ 57 จุด และ 58 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงในระยะสั้นจะไม่ได้กดดันให้เฟดเปลี่ยนมุมมองที่พร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย อีกทั้ง ตลาดแรงงานยังเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งอาจสะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคมที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) จะอยู่ที่ระดับ 3.9% ที่น่าสนใจคือ ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า +5.2%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯที่มีความตึงตัวมากขึ้น จนทำให้บริษัท/นายจ้างจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงาน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ

    • ฝั่งยุโรป – การระบาดของโอมิครอนในยุโรป รวมถึงปัญหาขาดแคลนพลังงานและปัญหาด้าน Supply Chain จะกดดันให้เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียง +0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ชะลอลงหนักจากที่โตได้ถึง +2.3% ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ตลาดต่างคาดหวังว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซนจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งในปีนี้ หากปัญหาการระบาดโอมิครอนเริ่มคลี่คลายลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของยูโรโซนในเดือนมกราคมอาจอยู่ในระดับสูงที่ 4.5% หนุนโดยระดับราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจเริ่มเป็นแรงกดดันต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ในการประชุม ECB ที่จะถึงนี้นั้น ทาง ECB อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ -0.50% และยังไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยประธาน ECB อาจยืนกรานว่า ECB ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อนึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ECB มีโอกาสราว 64% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง ณ การประชุมในเดือนธันวาคม ส่วนในฝั่งอังกฤษนั้น เราคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% หลังสถานการณ์การระบาดโอมิครอนในอังกฤษคลี่คลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่ BOE เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ เราคาดว่า BOE จะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่ามีโอกาสถึง 60% ที่ BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 5 ครั้งในปีนี้

    • ฝั่งเอเชีย – ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมอาจขยายตัวกว่า +2.8%y/y ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทว่าการระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปีที่ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกระดับมาตรการควบคุมการระบาด (Quasi-State of Emergency) ซึ่งอาจกดดันการบริโภคและใช้จ่ายของผู้คน ทำให้ยอดค้าปลีกในเดือนมกราคมอาจหดตัวลงได้ ส่วนในฝั่งออสเตรเลีย ตลาดประเมินว่า แนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะหนุนให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ในการประชุม RBA ที่จะถึงนี้ ตลาดมองว่า RBA อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาดของโอมิครอน

    • ฝั่งไทย – เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 2.4% หนุนโดยราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น แต่เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นตามธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติ COVID-19