ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราดอกเบี้ยเฟดจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดต่อไปในสัปดาห์นี้

 | Mar 28, 2022 04:37

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือได้ว่าตลาดลงทุนอเมริกาเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด แม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้น แต่ดัชนีบางตัวอย่างเช่นเอสแอนด์พี 500 และดาวโจนส์ในวันศุกร์ยังสามารถวิ่งกลับขึ้นมาปิดบวกได้ 0.51% และ 0.44% ตามลำดับ หุ้นกลุ่มที่พาเอสแอนด์พี 500 กลับขึ้นมาได้คือกลุ่มพลังงาน ที่สามารถปิดบวก 2.19% ตามมาด้วยกลุ่มสาธารณูปโภค 1.45% มีเพียงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นที่ปิดติดลบ

ในวันเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นได้เพียง 0.44% เท่านั้น ในขณะที่ดัชนีแนสแด็ก 100 และรัสเซล 2000 ปิดตลาดติดลบตัวละ 0.1% แม้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินต่อไป และไม่อาจวางใจได้ แต่สัปดาห์นี้นักลงทุนอาจจำเป็นต้องสละเวลามาดูรายงานตัวเลขเศรษฐกิจกันสักนิด เพราะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมีนาคม จะรายงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 เมษายนนี้เลย ความสำคัญก็คือหากวันศุกร์นี้ตัวเลขที่ออกมาลดลง ก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่เฟดจะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.50% 

สิ่งที่จะเป็นปัญหาลูกโซ่ ต่อเนื่องจากตัวเลขการจ้างงานก็คือถ้าหากมีการจ้างงานลดลง ความต้องการแรงงานก็จะเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ตัวเลขค่าจ้างต้องเพิ่มสูงขึ้น และนั่นจะยิ่งซ้ำแผลเศรษฐกิจ ที่ตอนนี้เงินเฟ้อก็สูงที่สุดในรอบสี่สิบปีอยู่แล้ว ให้สูงมากยิ่งกว่านี้ แม้แต่ราคาน้ำมันดิบในตอนนี้เองยังอยู่ ณ จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2011 ห่างจากจุดสูงสุดในปี 2008 เพียง 0.04% เท่านั้น

หากราคาน้ำมันดิบขึ้นทดสอบจุดสูงสุดในปี 2008 ได้ บางคนคาดการณ์ว่าเฟดจะถูกบังคับให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะไม่กระทบแค่ต้นทุนการเดินทางเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมของอเมริกา ที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันสำหรับการผลิตและการขนส่งผลิตภัณฑ์ จะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนของสินค้าอื่นๆ ก็จะปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน

ภาพรวมของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวขึ้น 1.79% นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่วิ่งขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.59% ตามมาด้วยหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 3.7% สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มที่ติดลบในสัปดาห์ที่แล้วมีเพียงหุ้นกลุ่มสุขภาพ (-0.52%) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (-0.21%) ตามลำดับ