ลุ้นยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และ GDP ไทย ในไตรมาสที่สอง

 | Aug 15, 2022 02:11

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลง
  • รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะเป็นที่สนใจของตลาด นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ส่วนในฝั่งไทย ควรรอติดตาม รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 2

  • เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าคาด หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน (ตลาดให้โอกาสราว 45% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) ส่วนเงินบาท แม้มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า หากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวดีกว่าคาด เช่นเดียวกับ ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอาจยังเดินหน้าซื้อสุทธิสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ แต่เรามองว่า แรงซื้ออาจเริ่มจำกัดลง หลังหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น ซึ่งเรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญจะเป็นโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์

  • ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

    มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
    35.00-35.60
    บาท/ดอลลาร์

  • มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

    • ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคของผู้คน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวได้ราว +0.1%m/m หรือ +0.3%m/m สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ซึ่งการขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกนั้นหนุนโดย ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนยังดูสดใส สะท้อนจากรายงานยอดขาย Amazon Prime ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคมที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกรายสำคัญ อาทิ Walmart, Home Depot, Lowe’s และ Target เพื่อประเมินแนวโน้มการใช้จ่าย และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ โดยรวมเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)

    • ฝั่งยุโรป – ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) เดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 9.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน ส่วนในฝั่งยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็มีแนวโน้มเร่งขึ้นสู่ระดับ 8.9% เช่นกัน ทำให้ตลาดต่างมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายนเช่นเดียวกับ BOE

    • ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 อาจขยายตัวราว +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี จากอานิสงส์การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทั้งนี้ แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.6% ในเดือนกรกฎาคม ตามการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ แต่เมื่อหักผลของราคาอาหารสดและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.1% ทำให้ตลาดคงมองว่า BOJ จะยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ในขณะที่ ธนาคารกลางอื่นๆ อาจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยในสัปดาห์นี้ ตลาดมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจมีความจำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.00% และ 3.75% ตามลำดับ หลังเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศได้เร่งตัวสูงขึ้น พร้อมภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนในฝั่งจีน ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน โดยตลาดคงมองว่า เศรษฐกิจจีนในเดือนกรกฎาคมยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) อาจโต +4.3%y/y ส่วนยอดค้าปลีกจะขยายตัวราว +4.9%y/y หลังรัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้ง ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ความเสี่ยงที่ทางการจีนจะใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ

    • ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานจะช่วยหนุนให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวราว +3.1%y/y ในไตรมาสที่ 2 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวเพียง +2.2%y/y ในไตรมาสแรก เราคาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะช่วยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้ โดย กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน