เงินเฟ้อเดือนกันยายน ชะลอลงสู่ระดับ 6.41% ตามราคาพลังงานที่ลดลง

 | Oct 05, 2022 08:51

เงินเฟ้อเดือนกันยายน ชะลอลงสู่ระดับ 6.41% ตามราคาพลังงานที่ลดลงต่อเนื่องและมาตรการลดภาระค่าครองชีพ

  • Headline Inflation September 2022

Actual: 6.41% Previous: 7.86%

KTBGM: 7.20% Consensus: 6.60%

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 6.41% จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งนี้ ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องยังคงหนุนให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

  • ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสที่ 4 ตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารโลก ฐานราคาที่สูงในปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องจะทำให้การชะลอของเงินเฟ้อมีอย่างจำกัด

  • ดาวน์โหลดแอป
    เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
    ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

    ภาพเงินเฟ้อไทยที่ไม่ได้เร่งตัวจนน่ากังวลแบบในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้เรายังคงมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ครั้งละ 0.25% จนแตะระดับ 1.25% ปลายปีนี้ และแตะระดับสูงสุดของรอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ที่ 2.00% ในปีหน้า

  • แม้เรามองว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทว่ายังคงต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุน หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่อาจกลับมาสูงขึ้นในช่วงปลายปี (ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นราว +8% จากสิ้นเดือนกันยายน)

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 6.41% ลดลง จากระดับ 7.86% ในเดือนสิงหาคม

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้น +0.22% จากเดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจาก +0.05% ในเดือนสิงหาคม โดยปัจจัยกดดันเงินเฟ้อยังคงเป็นการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราว –3.5% ส่วนราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง +0.7% จากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนและความต้องการบริโภคผัก ผลไม้ในช่วงเทศกาลกินเจที่หนุนให้ราคาผักและผลไม้ปรับตัวขึ้น +2.9% นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ก็มีส่วนหนุนให้ค่าใช้จ่ายในหมวด ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง พุ่งขึ้น +4.9% แต่เป็นการปรับขึ้นที่ไม่รุนแรงนัก จากอานิสงส์ของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย

  • เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.41% จาก 7.86% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาสินค้าพลังงานและราคาหมวดอาหารที่อยู่ในระดับสูงจากปีก่อนหน้า รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น และเมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.12%

  • กระทรวงพาณิชย์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่ทยอยลดลงจากราคาสินค้าพลังงานและอาหารโลกที่ปรับตัวลง กอปรกับฐานราคาที่สูงในปีก่อนและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากรัฐบาล ทั้งนี้ การชะลอลงของเงินเฟ้ออาจเป็นไปอย่างจำกัดตามโมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ กระทรวงพาณิชย์คงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 5.5%-6.5% ในปีนี้ (ค่ากลาง 6.0%)

เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากจนน่ากังวล ทำให้ กนง. สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

  • แนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ แม้จะมีการปรับขึ้นของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง สะท้อนว่า ประเทศไทยอาจไม่ได้เผชิญปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจนน่ากังวลเหมือนในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณาคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งระยะสั้นและระยะปานปลาง 5 ปี จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด จะพบว่า คาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นเริ่มชะลอลง ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางยังคงทรงตัวต่อเนื่อง ยิ่งตอกย้ำมุมมองของเราว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยไม่ได้น่ากังวล ทั้งนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูง ก่อนที่จะกลับมาอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ทำให้ เรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจไม่ได้กังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อมากนัก และ กนง. จะยังไม่เปลี่ยนท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย กนง. จะ “ทยอยปรับขึ้น” อัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.25% ได้ในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนแตะระดับ 2.00% ในปีหน้า

  • แม้เราประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อของไทยไม่ได้น่ากังวล แต่ควรติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น +8% จากช่วงสิ้นเดือนกันยายน ตามความคาดหวังการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และยังมีความเสี่ยงที่ราคาสินค้าพลังงานอาจพุ่งขึ้นต่อได้ หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้น จนรัสเซียตอบโต้ฝั่งตะวันตกด้วยการยุติการส่งออกพลังงานหรือลดกำลังการผลิตลง ซึ่งหากเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางเร่งตัวขึ้นมาก พร้อมกับภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้นชัดเจน ก็มีโอกาสที่ กนง. จะปรับท่าทีต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยได้

  • แนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของ กนง. ได้สะท้อนในบอนด์ยีลด์ระยะสั้นและดอกเบี้ย THOR ระยะสั้นอย่าง THOR-2 ปี ไปพอสมควรแล้ว แต่การที่ยีลด์เคิร์ฟของไทยโดยรวมยังมีความชันสูง (ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี กับ 2 ปี อยู่ที่ 130bps) ทำให้เรามองว่า บอนด์ระยะยาวเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นและอาจเปิดโอกาสในการทยอยสะสมในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวขึ้น (Buy on Dip) เพื่อเตรียมพอร์ตให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก