ธีมเดือนก.พ. เดือนแห่งความรัก แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเสี่ยงร้อนแรงขึ้น

 | Feb 03, 2023 03:01

สำหรับเดือน กุมภาพันธ์ 2023

Theme: เดือนแห่งความรัก แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเสี่ยงร้อนแรงขึ้น

Economic & Markets Review

ในเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อย่างเห็นได้ชัด หนุนโดย 1) ความหวังการเปิดประเทศจีนที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้นและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกต่างได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวดังกล่าว 2) ภาพเศรษฐกิจฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ที่ออกมาไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสที่เศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะยุโรปจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ลง นอกจากนี้ ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จากที่ IMF ได้ประเมินในช่วงเดือนตุลาคมปีก่อน และ 3) ความคาดหวังว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (ซึ่งสุดท้ายเฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.25% ชะลอลง ตามที่ตลาดคาด ในการประชุมต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) ตามภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำให้แม้ว่า โดยรวมรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะไม่ได้ออกมาดี แต่ตลาดก็กล้าที่จะกลับเข้าไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเติม

ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาดได้หนุนให้ ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวขึ้น อาทิ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้น +7.4% ส่วนดัชนี CSI300 ของจีน ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +8.0% ที่น่าสนใจคือ ตลาดจะเปิดรับความเสี่ยง ผู้เล่นในตลาดกลับไม่ได้ลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจัยหลักที่มีผลกับตลาด คือ แนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ต่างปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์อาจมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งไทย บอนด์ยีลด์ระยะสั้น โดยเฉพาะช่วงอายุต่ำกว่า 1 ปี กลับปรับตัวขึ้นแรงราว +30bps หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ยังคงสะท้อนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไม่ได้มาก (ไม่เกิน 1.75%)

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กลับเผชิญความผันผวนหนัก โดยราคาสินค้าพลังงานเคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทั้ง ความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรปที่คลี่คลาย รวมถึง ความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการใช้พลังงาน หากเศรษฐกิจโลกชะลอลง และความกังวลต่อผลกระทบมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียโดยฝั่งชาติตะวันตก อนึ่ง ราคาโลหะมีค่า อย่าง ทองคำ และราคาโลหะพื้นฐาน อาทิ ทองแดง กลับปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ยังช่วยหนุนให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า +5.2% (Correlation เงินบาทกับราคาทองคำสูงถึง 80%)