เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.88% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน

 | Sep 05, 2023 07:04

เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.88%

หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

  • Headline Inflation August 2023

Actual: 0.88%       Previous: 0.38% 

KTBGM: 0.80%     Consensus: 0.66%

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.88% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน ทว่าการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสัตว์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ
  • สำหรับเดือนกันยายน กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวและผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ฐานราคาที่สูงในปีก่อน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี กระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในกรอบ 1.0%-2.0% (ค่ากลาง 1.5%)
  • เราประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากจนทะลุกรอบ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% อย่างไรก็ดี การประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่จากทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่และผลกระทบจากภาวะ El Nino
  • อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ปิดโอกาสที่ กนง. อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.50% (ให้โอกาส 45%) เนื่องจาก กนง. อาจต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในจังหวะที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินเอื้ออำนวยต่อการขึ้นดอกเบี้ย
ดาวน์โหลดแอป
เข้าร่วมกับคนนับล้านที่ใช้ Investing.com เพื่อติดตามข่าวสารตลาดการเงินทั่วโลก
ดาวน์โหลดเดี๋ยวนี้

กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ        0.88% เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.38% ในเดือนกรกฎาคม

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้น +0.55% จากเดือนก่อนหน้า (เรามอง +0.45%) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง +4.54% และราคาข้าว +0.63% ผักและผลไม้ +2.38% ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งรวมถึงการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อสัตว์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -0.97% กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเพียง +0.23%
  • เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.88% จาก 0.38% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามความต้องการบริโภคและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิตในภาคเกษตร นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะและค่ากระแสไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงจากปีก่อนก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินเฟ้อ ส่วนปัจจัยกดดันยังคงเป็น ระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อนหน้าและการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสัตว์ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน และเมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สู่ระดับ 0.79%

อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ทำให้เรายังคงมองว่า กนง. จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25%

  • แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดจะปรับตัวขึ้น แต่จะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งควรสะท้อนถึงความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค กลับชะลอตัวลงต่อเนื่อง และหากเราประเมินว่า รัฐบาลใหม่เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ อาทิ การลดค่าไฟฟ้า ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า คุมราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผลกระทบจากภาวะ El Nino ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อได้ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ Digital Wallet เรามองว่า ผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้น่ากังวลมากอย่างที่เราเคยประเมินก่อนหน้า หากอ้างอิงผลการศึกษาของสำนักงบประมาณของรัฐสภา จะพบว่าตัวคูณทางการคลังหรือ Fiscal Multipliers ของรายจ่ายเงินโอนสำหรับประชาชนทั่วไป อยู่ที่ 0.947 ซึ่งยิ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิตอลก็อาจทำให้ Fiscal Multipliers ไม่ได้สูงอย่างที่คิด ดังนั้น เราจึงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ หากประเมินถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและเริ่มเห็นความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนสินเชื่อรถยนต์และอสังหาฯ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วที่ระดับสูงสุด 2.25%  
  • อย่างไรก็ดี เรายังไม่ปิดโอกาสที่ กนง. อาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.50% (เราให้โอกาสเกิดกรณีดังกล่าว 45%) เนื่องจาก กนง. ก็ให้ความสำคัญต่อ การรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) และการเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว (ซึ่งเรามองว่า กนง. ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Real Policy Rate เป็นบวก เมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ระดับศักยภาพ) และในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินก็ดูจะเอื้ออำนวยต่อการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ได้เช่นกัน แต่หาก กนง. เลือกที่จะรอดูสถานการณ์ไปก่อน เรามองว่า โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็จะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลัก ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทยได้ ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทก็มีโอกาสกลับมาแข็งค่ามากขึ้น ในช่วงปลายปี หรือ ปีหน้า เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน