ปี 2024 ไม่ใช่งานง่ายเลยสำหรับค่าเงินบาท(ตอนที่ 1)

 | Dec 28, 2023 03:11

ปี 2023 ถือได้ว่า เป็นอีกปีที่ท้าทายความสามารถในการวิเคราะห์ รวมถึงพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินของเราเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการทยอยปรับเปลี่ยนคาดการณ์ค่าเงินบาทของเรา ที่แม้ว่าสุดท้ายเงินบาทอาจจะจบสิ้นปีนี้ ใกล้เคียงกับเป้า 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ของเราที่ได้ประเมินไว้ตอนสิ้นเดือนกันยายน แต่ในระหว่างทางเราก็ต้องยอมรับว่า มุมมองค่าเงินของเรานั้นก็ผิดพลาดอยู่บ้างโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด “Higher for Longer” จนส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้ 5.00% ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ของจีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แย่กว่าคาดไปมากก็สร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียกันถ้วนหน้า ส่วนในฝั่งไทย ความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองไทย รวมถึงวิกฤตศรัทธาความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยก็ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าไปทะลุระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การประเมินปัจจัยพื้นฐาน, Valuation ของเงินบาท ผ่านดัชนีเงินบาท REER ร่วมกับการวิเคราะห์เชิงเทคนิคัล ก็ช่วยให้เราสามารถระบุจุดกลับตัวของเงินบาทได้ ดังที่เราได้เน้นย้ำว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าทะลุระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนกันยายน พร้อมกับย้ำมุมมองเดิม Good Bye 37 ในบทวิเคราะห์เงินบาทเดือนพฤศจิกายน

สำหรับปี 2024 เราประเมินว่า จะเป็นอีกปีที่มีความท้าทายในการประเมินภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มค่าเงิน เนื่องจากในปี 2024  เรายังคงมีสมมติฐานเดิมว่า เศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะบรรดาประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว (Developed Markets) อย่าง สหรัฐฯ, อังกฤษ และ ยูโรโซน ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ในปีหน้า สอดคล้องกับมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ประเมินโอกาสเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยราว 50%-65% ซึ่งหากสมมติฐานของเรานั้นถูกต้อง สิ่งที่จะเกิดขึ้นถัดไป คือ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)   

โดยเราประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ เฟดมีโอกาสเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคม สู่ระดับ 3.50%-3.75% ณ สิ้นปีหน้า หรือ คิดเป็นการลดดอกเบี้ยลงราว -175bps ซึ่งถือว่า เป็นการลดดอกเบี้ยที่ “ลึกและเร็ว” กว่าที่เฟดได้ประเมินไว้ในคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ล่าสุด ว่าจะลดดอกเบี้ยลงเพียง -75bps และยังเป็นมุมมองการลดดอกเบี้ยที่มากกว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดล่าสุดเล็กน้อย (จาก CME FedWatch Tool ตลาดคาดเฟดอาจลดดอกเบี้ย -150bps) อย่างไรก็ตาม เราจะมั่นใจต่อมุมมองดังกล่าวมากขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ข้อมูลตลาดแรงงานส่งสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) พร้อมกันนั้น เราจะคอยติดตาม ข้อมูลด้านการใช้จ่ายของครัวเรือน และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสหรัฐฯ จากเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งเราประเมินว่า ภาระหนี้ที่สูงขึ้น หลังการเริ่มกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงในรอบหลายสิบปี จะยิ่งกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือนสหรัฐฯ และสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงแข็งแกร่ง เราก็พร้อมปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับคาดการณ์เงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินบาทได้